ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

> ความแปลกแยกของสังคมไทยในอเมริกา

ความแปลกแยกของสังคมไทยในอเมริกา


ความแปลกแยกของสังคมไทยในอเมริกา

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ในช่วงของการมีเคมเปญการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันในช่วงนี้ ฟากฝั่งของอเมริกันเองทั้งสื่อและปะชาชนมีความคึกคักอย่างยิ่ง แต่หากเหลียวมองกลับมายังชุมชนไทยในอเมริกาหลายแห่ง กลับพบว่ายังคงเงียบงันอยู่อย่างปิดแผกไปจากช่วงการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ อย่างน้อยก็เมื่อสมัยโอบามาได้รับการเลือกตั้ง 4 ปีและ 8 ปีที่แล้ว นักกิจกรรมทางสังคมไทย-อเมริกันในยุคก่อนๆ ได้ค่อยๆ หลุดออกไปจากวงโคจรไปตามกาลเวลา และยังไม่มีเลือดใหม่เข้ามาทดแทน ดังนั้น ไม่ว่าตัวแทนรีพับลิกันหรือเดโมคเครตจะได้เป็นประธานาธิบดี ก็ย่อมไม่ส่งผลอะไรต่อชะตากรรมของชุมชนไทยในอเมริกา
       ทั้งนี้ หากมองในเชิงการต่อรองและอำนาจทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ จะสังเกตเห็นว่าอำนาจการต่อรองกับนักกการเมืองอเมริกันของชุมชนไทยที่นี่มีน้อยหรือแทบไม่มีเอาเลย ต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อนๆ กล่าวคือ มองไม่เห็น“เลือดใหม่”ไทย-อเมริกัน ที่พอให้ความหวังกับชุมชนไทยได้บ้าง แน่นอนว่า คงไม่สามารถอธิบายหรือนิยาม “ความเป็นคนไทยในอเมริกา”ให้ครอบคลุมได้ทั้งหมด เพียงแต่หากต้องการนิยามให้เห็นภาพบางส่วน เพื่อความเข้าใจของคนไทยในเมืองไทย หรือคนไทยที่เดินทางมาสหรัฐฯช่วงสั้นๆ ที่อาจมองภาพไม่เคลียร์ ก็น่าที่จะสามารถทำได้บ้าง ในลักษณะของการตั้งข้อสังเกต ซึ่งผู้รับฟังต้องใช้วิจารณญาณประกอบการรับฟังเรื่องราวดังกล่าว
     ประการแรก คือ ไม่เคยมีการตั้งข้อสังเกตเชิงความเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลงแล้วรายงานเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังจากฝ่ายรัฐและเอกชนของไทยทั้งในและนอกสหรัฐอเมริกาทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยมีแขนขา (หน่วยงาน) เต็มไปหมด
     ประการสอง ไม่เคยมีการทำงานหรือสนับสนุนงานด้านวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเกี่ยวกับลักษณะความคิด ความเปล่ยนแปลงของคนไทยในสหรัฐอเมริกามาก่อน ความเห็นของผมต่อไปนี้ เป็นแค่ข้อสังเกตถึงลักษณะ ของคนไทยในสหรัฐฯ โดยรวมว่ามี ลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการสังเกตเชิงประจักษ์เท่าที่สังเกตได้ในสายตาของคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง
     ข้อที่หนึ่ง เป็นเรื่องแปลกว่า จำนวนคนไทยด้านอายุและรายได้ (demographic) ในสหรัฐฯ นั้น ไม่สามารถระบุจำนวนอย่างแน่นอนได้ มีผลสำรวจอย่างเป็นทางการของฝ่ายสหรัฐฯเอง ที่เรียกว่า Census ซึ่งทำการสำรวจและแจ้งผลการสำรวจทุกๆ 10 ปี เช่น ผลจากการสำรวจคนไทยในอเมริกาปี 2010 ปรากฎว่ามีจำนวนรวมทั้งสิ้น 237,629 คน เพิ่มขึ้น 58.0831 เปอร์เซ็นต์ จากผลสำรวจประชากรเมื่อปี 2000 ขณะที่เมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้นมีตัวเลขคนไทยในสหรัฐฯเพียง 150,319 คน โดยรัฐที่มีคนไทยอาศัยอยู่มากที่สุด 10 อันดับได้แก่ 1.แคลิฟอร์เนีย 67,707 คน, 2.เท็กซัส 16,472 คน, 3.ฟลอริดา 15,333 คน, 4.นิวยอร์ค11,763 คน, 5.อิลลินอยส์ 9,800 คน, 6.วอชิงตัน 9,699 คน, 7.เวอร์จิเนีย 9,170 คน, 8.เนวาด้า7,783 คน, 9.แมรีแลนด์ 5,513 คน และ 10.จอร์เจีย 5,168 คน ซึ่งก็เป็นไปตามความเห็นของอดีตนายกสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้บางคนว่า แม้อัตราการเพิ่มขึ้นของคนไทยในอเมริกาจะสูงขึ้นมาก แต่ถ้าดูตัวเลขรวมแล้วก็ยังเชื่อว่าน้อยกว่าตัวเลขที่เป็นจริง อาจมีคนไทยในสหรัฐฯ ถึง 400,000 คนในรัฐแคลิฟอร์เนีย ดังนั้นการที่ผลสำรวจคนไทยของสหรัฐฯที่บอกว่ามีคนไทยจำนวน 60,000 กว่าคนจึงน่าจะน้อยกว่าตัวเลขจริงอยู่มาก และมีความเป็นไปได้มากว่าจำนวนตัวเลขคนไทยที่แท้จริงแล้วต้องเป็นแสนคนขึ้นไปนั้น น่าจะเป็นจริงมากกว่า
     สาเหตุที่ตัวเลขอย่างเป็นทางการออกมาน้อยกว่าตัวเลขจริง น่าจะมาจาก 2 สาเหตุ คือ ประการแรก คนไทย กระจายกันอยู่ในภูมิภาคต่างๆของสหรัฐฯทำให้ยากต่อการสำรวจและรวบรวมข้อมูล กับ ประการที่สอง คือ คนไทย ที่ทำที่มาประกอบอาชีพต่างๆ ในสหรัฐฯนั้น ไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ข้อมูลได้ เพราะเป็นผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายหรือโรบินฮู้ด จึงมีความกลัวต่อการให้ข้อมูลกับองค์กร Census (ที่จริงแล้วองค์กรสำรวจประชากรองค์กรนี้ ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นคนละส่วนกับหน่วยงานอเมริกันที่ดูแลด้านต่างด้าวหรือ Department of Homeland Security ; Census ไม่มีหน้าที่ให้ข้อมูลการสำรวจประชากรต่อ DHS แต่กระนั้นก็มีคนไทย เข้าใจผิดอยู่มาก พวกเขาจึงไม่ให้ความร่วมมือในการสำรวจจำนวนประชากรของ Censusเท่าที่ควร
     ศูนย์กลางของคนไทยในสหรัฐฯ เป็นที่รู้กันว่า คือ เมืองลอสแองเจลิส(แอล.เอ.) รัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยเหตุที่เป็นเขตที่มีคนไทยอาศัยอยู่หนาแน่นและจำนวนมากที่สุดมากกว่าพื้นใดๆ สัญลักษณ์ของพื้นที่นี้ คือ “ไทยทาวน์” ดังนั้น ถ้าจะมองกันถึง “ลักษณะเชิงความคิด”ของคนไทยในสหรัฐฯ คนไทยในพื้นที่แอล.เอ. จึงอาจจะพอหยิบยกเป็นตัวอย่างได้บางส่วนนั้น เพราะลักษณะความคิดของคนไทยดังกล่าวจะไม่เหมือนกันไปเสียทั้งหมดทุกพื้นที่
      อย่างไรก็ตาม “รากฐานความคิด”ของคนไทยทั้งหมดในสหรัฐฯ อาจไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งก็มีข้อยกเว้นอยู่ว่า คำว่าคนไทยในอเมริกานั้นย่อมต้องจำกัดความหมายไว้เพียงคนไทยที่มาจากเมืองไทยเท่านั้น ไม่ใช่ลูกหลานคนไทยที่เกิดและโตในสหรัฐฯจนกลายเป็นพลเมืองอเมริกัน ซึ่งผลในประการหลัง ทำให้ลูกหลานหรือเยาวชนไทยในสหรัฐฯ สนใจความเป็นไปของเมืองไทยลดน้อยลงไปด้วย โดยหากพวกเขา สนใจเมืองไทย เช่น สนใจการเมืองไทย สนใจวัฒนธรรมไทย มักเป็นไปโดยการกล่อมเกลาเชิงการบังคับจากพ่อแม่ผู้ปกครองคนไทยที่ย้ายตัวเองไปจากเมืองไทยมากกว่าจะเป็นไปโดยธรรมชาติของตัวพวกเขา เป็นสภาพฝืนธรรมชาติมากกว่า ขณะที่รัฐบาลไทยทุกสมัยเองแทบไม่เคยใส่ใจสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนไทยเหล่านี้สนใจเมืองไทยในมิติการพัฒนาด้านต่างๆ เอาเลย
      การกล่อมเกลา ที่ผมว่า หมายถึง การที่พ่อแม่ผู้ปกครองพยายามฝังหัววัฒนธรรมไทยให้กับเด็กและเยาวชนลูกหลานไทยในอเมริกา เช่น การส่งลูกไปเรียนภาษาไทย การพาลูกเข้าวัดไทย ส่วนการบังคับหมายถึง การบังคับให้เด็กและเยาวชน ลูกหลานไทยเรียนรู้วัฒนธรรมไทย เช่น บังคับให้พูดภาษาไทยในบ้าน บังคับให้ไปวัดไทย บังคับให้ต้องแสดงความเคารพผู้ใหญ่ตามแบบอย่างมารยาท (วัฒนธรรม) ไทย ซึ่งเชื่อว่าหากมีการประเมินผลในขั้นปลายสุดแล้ว การกล่อมเกลาและการบังคับไม่น่าจะได้ผลในส่วนที่เป็นคุณูปการต่อสังคมไทยทั้งในสหรัฐฯและในเมืองไทยมากนัก อาจได้ผลบ้างในส่วนของปัจเจกหรือของครอบครัวนั้นๆ แต่กผลของวิธีการทั้งสอง ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการขยายตัวของวัฒนธรรมไทยในสหรัฐฯ แต่อย่างใด ภาพที่เห็นจึงเป็นการสนองความต้องการ(ตัณหา) ของผู้ใหญ่ (ผู้ปกครองเด็กและเยาวชน) คนไทยที่ย้ายตัวเองมาอยู่สหรัฐฯมากกว่าอย่างอื่น ผู้ใหญ่เหล่านี้อาจมีแรงเก็บกดทางด้านศีลธรรมเชิงอนุรักษ์นิยม (เช่น ศีลธรรมเชิงพุทธ) และวัฒนธรรม (เช่น มารยาทไทย) มาก่อนจากเมืองไทย พวกเขาจึงต้องการระบายถ่ายทอดความคิดของตัวเองสู่ความคิดของเด็กเยาวชนที่เป็นรุ่นลูกหลาน แต่แล้วก็เป็นเรื่องยากเพราะเด็กไทยเหล่านี้อยู่กับสภาพแวดล้อมแบบอเมริกัน จึงนับเป็นการลงทุนที่แทบสูญเปล่า
     ข้อที่สอง จากเหตุที่กล่าวมาในประการที่หนึ่ง นำไปสู่ปฏิบัติการด้าน “ธุรกิจวัฒนธรรมไทย”เพื่อสนองเจตนารมณ์ “กล่อมเกลาและบังคับ”ของผู้ปกครองเด็กและเยาวชนในอเมริกา คนที่ประกอบอาชีพธุรกิจ “ค้าขายวัฒนธรรมไทย” ซึ่งมีตั้งแต่ฝ่ายเอกชนไทยและเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย (เช่น สถานกงสุล สถานทูต สายการบินของไทย) ในสหรัฐฯ พวกเขาเข้าใจดีถึงเจตนารมณ์ทำนองนี้จึงดำเนินกิจกรรมแคมป์เยาวชนสัญจรเมืองไทย ท่องเที่ยวไทยขึ้น ซึ่งที่จริงแล้ว มันเป็นการสนองความอยากของผู้ปกครองคนไทยในสหรัฐฯมากกว่าความอยากรู้เรื่องเมืองไทยเชิงปัจเจกของเด็กและเยาวชนไทย กล่าวคือ กิจกรรมดังกล่าวไม่ได้มาจากฐานความต้องการอยากรู้อยากเห็นเมืองไทยของเด็กและเยาวชนจากตัวของพวกเขาเอง ผลที่ได้จากกิจกรรมดังกล่าวนี้ ในความเป็นจริงคือ ชุมชนไทยในอเมริกาแทบไม่ได้อะไรเลยจากกิจกรรมเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยที่ว่านี้ นอกเสียจากการได้หน้า ได้เกียรติ และชื่นชมกันเองของผู้จัดกิจกรรมเพียงแค่ไม่กี่คน รวมถึงผู้ให้การสนับสนุนซึ่งเป็นแบรนด์สินค้า
     ประการที่สาม คนไทยในวัยผู้ใหญ่ที่ย้ายตัวเองมาจากเมืองไทยส่วนมาก สนใจกิจกรรมรำลึกความหลัง มากกว่ากิจกรรมที่เป็นนวัตกรรม นวัตกรรมของคนไทยกลุ่มนี้ คือ ประวัติศาสตร์ของเมืองไทยเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วที่พวกเขาได้รับการกล่อมเกลาไปจากเมืองไทยเมื่อสมัยเรียนหนังสือ “หน้าที่พลเมืองไทย” ตามแบบเรียนในชั้นประถม ชั้นมัธยม หรือแม้กระทั่งการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ในช่วงรัฐบาลเผด็จการ กึ่งเผด็จการหรือยุคประชาธิปไตยครึ่งใบหรือเสี้ยวใบ รวมถึงการถูกฝังหัวไปด้วยระเบียบและความคิดรูปแบบหน้าที่พลเมืองศีลธรรมเชิงพุทธ (เช่น ระบบศีลธรรมในแบบเรียน ) ประวัติศาสตร์ไทยเทือกเขาอัลไต ฉบับหลวงวิวิตรวาทการ ที่รัฐไทยพยายามยัดเยียดให้เรียนมาก่อน การอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐฯ พวกเขามีหน้าที่สำคัญ คือ ทำมาหากิน แบกภาระชีวิตรายวันแบบไปเช้า-เย็นกลับนั้น ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาได้เรียนรู้และซึมซับ กระบวนการ ความคิดและวิถีประชาธิปไตยในรูปแบบวัฒนธรรมอเมริกันด้วยเสมอไป ดังนั้นความคิดต่อวิธีการและรูปแบบทางการเมืองของพวกเขาจึงหยุดอยู่ในช่วงประวัติศาสตร์ไทย 30-40 ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับมิติทางด้านความคิดและกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมของพวกเขาที่เป็นทัศนคติการเมืองแบบคนดีปกครองประเทศ (อนุรักษ์นิยม) หาใช่รูปแบบประชาธิปไตย (เสรีนิยม) แต่อย่างใดไม่ ส่งผลต่อกิจกรรมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยที่พวกเขาทำ เช่น พวกเขามักชอบบริจาคเงินเพื่อกิจกรรมการกุศลที่เมืองไทยในงานเลี้ยงรุ่นของสถาบัน โดยไม่แคร์เพื่อนคนไทยในอเมริกาจะเป็นอยู่เดือดร้อนอย่างไร เป็นต้น
     ประการที่สี่ คนไทยในวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุในสหรัฐฯ มีลักษะของความเป็นชนชั้นวรรณะสูง มีจิตพิทักษ์ระบบอุปถัมภ์และอมาตยาธิปไตยมากกว่าคนไทยในเมืองไทยเอาด้วยซ้ำ ดูได้จากกิจกรรมที่พวกเขาจัด เช่น การจัดงานการกุศลเพื่อหาเงินสนับสนุนองค์กรของรัฐหรือองค์กรกระแสหลักในเมืองไทย(ที่มีฐานการสนับสนุนที่มั่นคงอยู่แล้ว) โดยหวังถึงผลได้เช่น เหรียญตรา ประกาศ หรือเครื่องเชิดชูเกียรติจากเมืองไทย มีการแข่งขัน กันอย่างออกหน้าออกตาระหว่างสมาคมคนไทยต่างๆ มีการใช้ตัวกลางคือ คนของรัฐไทย เช่น กงสุลใหญ่ หรือทูตไทยเป็นตัวชูโรง ที่สำคัญคือ เวลามีการจัดกิจกรรมทำนองนี้ส่วนใหญ่ฝ่ายอเมริกันหรือ ตัวแทนฝ่ายอเมริกันไม่ค่อยมีส่วนร่วมในกิจกรรมมากนักกิจกรรมจึงเป็นไปในลักษณะ “คนไทยกับคนไทย” มากกว่า “คนไทยร่วมกับคนอเมริกัน”ทำให้การจัดตั้งองค์กรไม่หวังผลกำไร(Nonprofit organization) เพื่อคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีประสิทธิภาพจริง แต่จัดตั้งเพื่อหน้าตาของผู้นำองค์กรบางคนมากกว่าหรือตั้งองค์กรไว้เพื่อดักจับแมลงเม่า (คนที่มีเงินทุน) จากเมืองไทยที่พลัดหลงเข้าไปสหรัฐฯ ทั้งที่การจัดให้ฝ่ายอเมริกันซึ่งเป็นสังคมที่ใหญ่กว่าได้ร่วมกิจกรรมกับฝ่ายไทยด้วยนั้นจะมีคุณูปการต่อชุมชนไทยในสหรัฐฯ มากกว่า
     ประการที่ห้า การยังคงยอมรับรัฐไทยเป็นเจ้านายสูงสุดหรืออีกนัยหนึ่งคือ การอวยรัฐไทยของคนไทยวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุในสหรัฐฯ จากลักษณะของผลประโยชน์ร่วมหรือผลประโยชน์สมยอมระหว่างฝ่ายรัฐไทยกับฝ่ายคนไทยในสหรัฐซึ่งมี 2 ประเด็นใหญ่คือ ประเด็นที่หนึ่ง โครงการของรัฐไทยที่เอื้อประโยชน์ต่อคนไทยบางคนบางกลุ่มในสหรัฐฯ เช่น โครงการเงินกู้ของแบงก์ไทยสำหรับประกอบกิจการร้านอาหารไทยในอเมริกา (โดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งสุดท้ายก็ประสบความล้มเหลว) โครงการ Cooking school (ไม่มีการประเมินผล ซึ่งก็ล้มเหลวเช่นเดียวกัน) โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก (ท้ายที่สุดก็เงียบ ไม่ต่อเนื่องและไม่มีการประเมินผลเช่นกัน) โครงการเหล่านี้ ให้ผลประโยชน์กับคนไทยเพียงบางกลุ่มที่ถือตนว่ามีรัฐไทยเป็นเจ้านาย แต่ไม่กระจายผลประโยชน์ให้ถึงคนไทยส่วนอื่นในสหรัฐฯ อย่างยุติธรรม ประเด็นที่หนึ่งนี้เชื่อมกับ ประเด็นที่สอง คือ บ่วงล่อรางวัลเชิดชูเกียรติจากฝ่ายรัฐไทยที่โยงถึง 2 ส่วน คือ ส่วนของการเป็น เอเย่นซี(Agency) ขายศิลปวัฒนธรรมไทยในเชิงการผูกขาดศิลปวัฒนธรรมไทยของคนไทยบางคนบางกลุ่มเพราะว่ากันตามจริงแล้ววัฒนธรรมไทยในสหรัฐฯ ไม่ต่างจากโชว์ประเภทหนึ่ง เพียงแต่เอเยนซีเหล่านี้ เป็นตัวแทนขายของรัฐไทย แม้แต่ในหัวของเด็กเยาวชนไทย ภาพของศิลปวัฒนธรรมไทยก็คือโชว์ประเภท หนึ่ง ไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึง “ความรักชาติ(ไทย-ของเยาวชนไทย)ในอเมริกา” ที่พยายามส่งเสริมกันอย่างไรได้เลย ประเด็นนี้ส่งผลต่ออีกทอดหนึ่ง ก็คือ การวุ่นอยู่กับตัวเองแบ่งแยกแข่งขันกันเองในชุมชนไทยของกลุ่มผู้ใหญ่คนไทยวัยผู้ใหญ่ (แบบไทยๆ) เหล่านี้โดยไม่สนใจว่ากระบวนทัศน์ของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอยู่ในขั้นไหนแล้ว
     ไม่แปลกที่สังคมไทยในอเมริกาโดยภาพรวมยังคงถวิลหาอดีต อยู่อย่างแปลกแยก ขาดการมีส่วนร่วมหรือความสัมพันธ์กับสังคมอเมริกันโดยทั่วไป ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือการเลือกตั้งทั่วไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม.
ที่มา : http://www.siamrath.co.th/web/?q=%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Follow Us On