ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

*นักวิทย์ค้นพบ “คลื่นแรงโน้มถ่วง”เป็นครั้งแรก พิสูจน์ทฤษฎีไอน์สไตน์ทำนายไว้ร้อยปีก่อน

ภาพจำลองการเกิดการบิดเบี้ยวของ"เสปซไทม์" จากดวงอาทิตย์และโลก (เอเอฟพี)
ภาพจำลองการเกิดการบิดเบี้ยวของ"เสปซไทม์" จากดวงอาทิตย์และโลก (เอเอฟพี)
นักวิทย์ค้นพบ “คลื่นแรงโน้มถ่วง”
เป็นครั้งแรก พิสูจน์ทฤษฎีไอน์สไตน์ทำนายไว้ร้อยปีก่อน
ทีมนักวิทยาศาสตร์ แถลงที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า ทีมได้ค้นพบ “คลื่นแรงโน้มถ่วง” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พิสูจน์ทฤษฎีที่ไอน์สไตน์ได้ทำนายไว้เมื่อราว 100 ปีก่อน นับเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ของวงการฟิสิกส์และวงการดาราศาสตร์
นักวิทยาศาสตร์ในโครงการ Laser Interferometer Gravitational-wave Observatory (ไลโก) โครงการที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพิสูจน์และตรวจจับคลื่นแรงโน้มถ่วง ในสหรัฐอเมริกา สามารถตรวจจับ “คลื่นแรงโน้มถ่วง” ที่ส่งออกมาจากหลุมดำ 2 หลุมที่เคลื่อนตัวเข้าชนกันเมื่อ 1,300 ล้านปีก่อน เอาไว้ได้เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 ด้วยเครื่องมือตรวจจับอันซับซ้อนที่สถานีตรวจจับสองแห่งในสหรัฐอเมริกา โดยนักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูล และนำข้อมูลเข้าสู่กระบวนการทบทวนหลายขั้นตอน ก่อนที่จะประกาศการค้นพบอย่างเป็นทางการในวันเดียวกันนี้ นับเป็นความสำเร็จของทีมนักวิทยาศาสตร์ราว 1,000 คนจาก 16 ประเทศซึ่งเข้าร่วมในโครงการซึ่ง ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐ
รายงานระบุว่า “คลื่นแรงโน้มถ่วง” คือคลื่นความบิดเบี้ยวในอวกาศ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของมวลขนาดใหญ่ คลายการกระเพื่อมของน้ำ หรืออาจเปรียบเทียบได้กับวัตถุที่เคลื่อนที่อยู่บนผ้าที่ขึงตึง ที่มวลจะทำให้พื้นผิวของผ้าเกิดความบิดเบี้ยว เปรียบเทียบได้กับความบิดเบี้ยวของ “สเปซไทม์” ที่อาจทำให้ระยะทางและเวลาเกิดความเปลี่ยนแปลง
ขณะที่ไลโก ทดสอบทฤษฎีดังกล่าวที่สถานีสองแห่งในรัฐลุยเซียนา และรัฐวอชิงตัน ด้วยการยิงแสงเลเซอร์ไปในท่อความยาว 4 กิโลเมตร สองท่อในทิศทางตั้งฉากกัน ก่อนจะใช้กระจกสะท้อนแสงดังกล่าวกลับมาก่อนจะพบกว่า “คลื่นแรงโน้มถ่วง” ที่ถูกส่งมาถึงโลกทำให้แสงเลเซอร์สะท้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดไม่พร้อมกัน
ทั้งนี้”คลื่นแรงโน้มถ่วง”ซึ่งจะช่วยนักวิทยาศาตร์เข้าใจจักรวาลได้มากขึ้นเกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของมวลในอวกาศ แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถตรวจจับได้ยากมากเนื่องจากคลื่นจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยดังนั้น ทีมจึงต้องตรวจจับคลื่นแรงโน้มถ่วงจากวัตถุขนาดใหญ่อย่างหลุมดำสองหลุมที่มีมวล 29 และ 36 เท่าของดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนที่เข้าชนกัน ก่อให้เกิดคลื่นแรงโน้มถ่วงที่ตรวจจับได้ง่ายกว่า
คลื่นแรงโน้มถ่วงจากการชนกันของหลุมดำถูกตรวจจับได้โดยสถานีตรวจจับที่รัฐลุยเซียนาก่อนที่ในอีก 7.1 ส่วนในหนึ่งพันส่วนของวินาทีต่อมา สถานีที่วอชิงตันที่อยู่ห่างไป 3,000 กิโลเมตรจะตรวจจับคลื่นดังกล่าวได้เช่นกัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถยืนยันการค้นพบดังกล่าวได้
ทั้งนี้การค้นพบดังกล่าวถูกยกย่องให้เป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเทียบได้กับ การประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ของกาลิเลโอ เมื่อ 400 ปีก่อน ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของดาราศาสตร์ยุคใหม่ และเทียบได้กรับการค้นพบ “ฮิกส์โบซอน” อนุภาคมูลฐานที่มีการประกาศการค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Follow Us On